สิ้นปีใกล้เข้ามาถึง หลายๆ คนอาจกำลังเริ่มวางแผนทริปหยุดยาวช่วงปีใหม่ สำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ สิ่งที่คุณต้องทำมีมากกว่าเพียงแค่วางแผนเที่ยวพักผ่อน แต่ยังมีการวางแผนการจ่ายภาษีให้ต้องดูแลจัดการด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทไหน การจ่ายภาษีอย่างครบถ้วนและตรงตามกำหนดเวลาก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเดือดร้อนจากการโดยสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง มาเตรียมตัววางแผนการยื่นภาษีให้ครบถ้วนกันได้ในบทความนี้
จ่ายให้ครบตามเกณฑ์
เกณฑ์ภาษีเงินได้มีทั้งหมด 2 ประเภทได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นับเป็นภาษีเงินได้สำหรับกิจการที่ไม่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เจ้าของธุรกิจจะต้องยื่นภาษีทั้งหมด 2 ครั้งต่อปี คือ
> ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91) ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม โดยรายละเอียดระบุทั้งรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
> ภาษีกลางปี (ภ.ง.ด.94) ในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน โดยจะเป็นการสรุปรายได้ของช่วงครึ่งปีแรก หากมีค่าลดหย่อน บางรายการก็จะถูกหักออกเหลือเพียงครึ่งเดียว
โดยจะมีวิธีการคิดคำนวณ 2 แบบ คือสำหรับกรณีที่มีรายได้มากกว่า หรือน้อยกว่า 1 ล้านบาทต่อปี
ถัดมาคือภาษีนิติบุคคลซึ่งเป็นภาษีที่ต้องชำระ หากมีการจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล
ภาษีประเภทนี้จัดเป็นภาษีบริษัทที่คิดคำนวณจากกำไรสุทธิที่นิติบุคคลมีหน้าที่ต้องจ่ายหากมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยบริษัทจะต้องยื่นภาษีนิติบุคคล 2 ครั้งต่อปี คือ
> รอบครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ซึ่งมีกำหนดการยื่นแบบฟอร์มและชำระภาษีภายใน 2 เดือน นับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรก ของรอบระยะเวลาบัญชี
> รอบสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) ซึ่งมีกำหนดการยื่นแบบฟอร์มและชำระภาษีภายใน 150 วัน นับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
เจาะลึกภาษีนิติบุคคล เรื่องที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้
ภาษีนิติบุคคล ถือเป็นภาษีที่บริษัทต้องชำระเมื่อมีเกณฑ์ตรงตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยบริษัทจะต้องมีรายได้ กำไรสุทธิ และดำเนินกิจการอย่างถูกต้อง โดยอัตราการเสียภาษีสำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 30 ล้านบาท จะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
กำไรสุทธิ อัตราภาษี
300,000 บาทแรก ยกเว้นภาษี
300,001 – 3 ล้าน 15%
มากกว่า 3 ล้าน 20%
หากไม่เข้าเกณฑ์ SME และมีกำไรสุทธิ (ไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำ) จะมีอัตราภาษีอยู่ที่ 20%
ภาษี 2 ประเภทที่ต้องจ่ายรายเดือน
นอกจากภาษีรอบครึ่งปี และสิ้นปีแล้ว ยังมีภาษีอีก 2 ประเภทที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายในทุกๆ เดือน นั่นคือ ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม หลายคนอาจจะคุ้นชิ้นกับส่วนแรกอยู่แล้ว เพราะเป็นภาษีประเภทที่ทุกคนต้องเจออยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะค่าขนส่ง ค่าจ้าง ค่าบริการ หรือค่าโฆษณา ต่างก็มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายทั้งนั้น ภาษีประเภทนี้สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทเงินได้คือ ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3 และ ภ.ง.ด.53 ทั้งนี้ผู้เสียภาษีจะต้องจัดเตรียมแบบฟอร์มแห่งตรงกับประเภทเงินได้ รวมไปถึงหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ที่ระบุรายละเอียดซึ่งประกอบไปด้วย ชื่อผู้จ่ายเงิน ผู้รับเงิน และรายละเอียดการหัก ณ ที่จ่าย ให้ครบถ้วน บริษัทสามารถยื่นแบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย ได้ผ่านฟอร์มแบบกระดาษ ทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไป หรือช่องทางออนไลน์ทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
ภาษีอีกประเภทที่ต้องจ่ายทุกเดือน คือภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นการเก็บจากการขายสินค้าหรือบริการ เราอาจรู้จักคุ้นหูอยู่ในชื่อของ VAT 7%
โดยจะมีเพียงแค่กิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้นที่จะต้องนำส่งภาษีประเภทนี้ บริษัทสามารถยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มในรูปแบบกระดาษได้ทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หรือผ่านทางช่องทางออนไลน์ทุกวันที่ 23 ของเดือนถัดไป
นี่เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจควรรู้เอาไว้ ทางที่ดีควรเตรียมตัวจัดการเรื่องการยื่นภาษีเอาไว้ให้พร้อมก่อนจะครบกำหนด รวมถึงจัดเตรียมเอกสารต่างๆ ให้พร้อม เมื่อถึงเวลาสิ้นปีจะได้ปิดรอบปีอย่างราบรื่น
Comments