พนักงาน ถือเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักขององค์กร เพราะฉะนั้นแล้วค่าตอบแทนและสวัสดิการจึงต้องเหมาะสมกับหน้าที่ และจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ก้าวทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เทรนด์ที่เกิดขึ้นและเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คือการจัดเทรนนิ่งสำหรับพนักงาน แต่ละบริษัทอาจจัดคอร์สเทรนที่แตกต่างกันออกไปให้พนักงาน อาจขึ้นอยู่กับตำแหน่งหน้าที่ของพนักงานแต่ละคน รวมถึงประเภทธุรกิจของบริษัทนั้นๆ อย่างไรก็ตามด้วยงบประมาณที่มีอยู่ อาจส่งผลให้บริษัทเข้าถึงถึงโปรแกรมการเทรนได้อย่างจำกัด แต่ไม่ว่าอย่างไรการเทรนที่เกิดขึ้นก็ส่งผลดีต่อบริษัททั้งทางตรงและทางอ้อม
พัฒนาทักษะ พัฒนาองค์กร
เพราะอะไรการเทรนถึงส่งผลดีต่อบริษัทกัน? เป้าหมายหลักของการเทรน คือเพื่อพัฒนาทักษะความสามารถของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการเทรนพนักงานเข้าใหม่ พัฒนา Softskills อัปเดตความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทักษะการบริหารจัดการ หรือด้านอื่นๆ ทั้งหมดล้วนนำไปสู่ประสิทธิภาพและคุณภาพของการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นทุกวัน และเข้ามามีบทบาทในหลายส่วนของชีวิตเช่นนี้ ความก้าวหน้าเหล่านี้อาจเข้ามาแทนที่ หรือลดทอนคุณค่าของพนักงานแต่ละบุคคลก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นแล้วการเทรนทักษะเพิ่มเติม หมั่นอัปเดตความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตการทำงานของ เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มพูและขยายขอบข่ายความรู้ของพนักงานแต่ละคนแล้ว การเทรนยังช่วยเตรียมความพร้อมให้พนักงานพร้อมที่จะเผชิญหน้าความท้าทายในชีวิตการทำงานที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย ผลลัพธ์สุดท้ายของการจัดเทรนนิ่งไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ที่พนักงาน แต่เป็นงานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ช่วยผลักดันให้บริษัทก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น
สร้างความเชื่อมั่น
อีกหนึ่งข้อดีของการเทรน ที่หลายคนอาจมองข้ามไป คือนอกจากกระบวนการเรียนรู้ในส่วนนี้จะช่วย พัฒนาทักษะให้แก่พนักงานแล้ว ก็ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นในองค์กรให้แก่พนักงานอีกด้วย จุดนี้แสดงให้เห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญและใส่ใจพนักงานเป็นอย่างดี ผลตอบรับคือชื่อเสียงของบริษัทในหมู่พนักงานและในวงกว้าง ที่จะช่วยดึงดูดความสนใจจากสังคม ให้มีผู้สนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรมากขึ้น เปิดโอกาสให้บริษัทได้ทำความรู้จักคนเก่ง คนที่มีความสามารถจำนวนมาก การเชื้อเชิญกลุ่มคนเหล่านี้ให้เข้ามาร่วมงานกับบริษัทก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้อย่างไม่ยากเย็น
สร้างปฏิสัมพันธ์ในออฟฟิศ
คงไม่มีบริษัทไหนอยากให้องค์กรเต็มไปด้วยพนักงานที่เกิดอาการเบื่อหน่าย Burnout กับการทำงาน บรรยากาศการทำงานที่น่าเบื่อ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาวะของพนักงานได้ การเทรนทำให้พนักงานตื่นตัวอยู่เสมอและไม่รู้สึกจำเจกับงานตรงหน้าตามที่ได้รับมอบหมายจนเกินไป ถือเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมภายในองค์กรที่ทุกๆ คนทำเหมือนๆ กันสร้างความรู้สึกเป็นปึกแผ่นเดียวกัน มีเรื่องให้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด เสริมสร้างการทำงานเป็นทีมในทางอ้อม จึงไม่มีใครเกิดความรู้สึกเหงาเดียวดายจนเกิดอาการอยากเปลี่ยนงาน และเลือกที่จะเดินจากไป
หลากหลายรูปแบบการเทรน
การพัฒนาทักษะพนักงานอาจเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการโค้ช (Coaching) เทรนนิ่ง การสอนงาน การให้คำปรึกษา ฯลฯ บางบริษัทอาจเลือกลงทุนคอร์สเรียน Softskills หรือคอร์สเรียนเฉพาะทางให้พนักงานแต่ละคนไปโดยเฉพาะเจาะจง แต่ถ้าหากมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณที่ทำให้บริษัทไม่สามารถจ่ายซื้อคอร์สเทรนนิ่งเหล่านั้นได้ การจัดเทรนนิ่งเล็กๆ ภายในองค์กร อาจเป็นการแชร์ความรู้ความเชี่ยวชาญจากแต่ละแผนก ก็เป็นการเสริมความรู้ พัฒนาทักษะได้เช่นกัน หรือหากมีโอกาสอาจเชิญวิทยากรมาบรรยายหัวข้อสำคัญเป็นครั้งคราว ก็ช่วยมอบความรู้ให้พนักงานได้ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว
แน่นอนว่าเป้าหมายของทุกบริษัทคือความก้าวหน้า และการประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ หลายบริษัทอาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับการเทรนว่าอาจเป็นกิจกรรมที่มาดึงเวลาการทำงานของพนักงาน ทำให้เกิดเหตุการณ์งานล่าช้าตามมาหรือไม่ แต่ในทางกลับกัน เป้าประสงค์ของการเทรนก็คือเพื่อสร้างทักษะใหม่ๆ พัฒนาจุดแข็งให้แกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม รวมไปถึงเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน เพราะฉะนั้นแล้วการจัดโปรแกรมพัฒนาทักษะพนักงานจึงส่งผลดีกว่า ต่อภาพรวมของบริษัทในระยะยาวอย่างแน่นอน
Comments