หากลองพิจารณาดูให้ดี จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมองค์กร ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบความสำเร็จขององค์กร ไม่ว่ายอดขายจะดีอย่างไร แผนกลยุทธ์การตลาดจะโดดเด่นเป็นที่น่าจับตามอง หรือโมเดลธุรกิจจะประสบความสำเร็จมากขนาดไหน หากไร้ซึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญอย่างพนักงาน บริษัทก็คงไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้ หรืออาจไม่ได้มีความสำเร็จที่ยั่งยืนในระยะยาว วัฒนธรรมองค์กรจึงถือเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้พนักงานมีประสบการณ์การทำงานที่ดี สิ่งนี้เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงชั้นดีที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการผลิตผลงานออกมาอย่างมีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล ยิ่งไปกว่านั้นคือสร้างความพึงพอใจให้เหล่าพนักงานมีกำลังที่จะผลิตผลงานดีๆ ออกมาเพื่อบริษัทต่อไป เพราะฉะนั้นแล้ว “วัฒนธรรมองค์กร”
จึงจำเป็นจะต้องมีคนคอยดูแลและตรวจสอบให้มั่นใจอยู่เสมอว่าสิ่งที่บริษัทยึดถือและปฏิบัติตามอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ อัปเดตเป็นปัจจุบันและสร้างความพึงพอใจให้พนักงาน แน่นอนว่าแต่ละบริษัทต่างก็มีวัฒนธรรมองค์กรเป็นของตัวเอง ต่างบริษัทก็ต่างวัฒนธรรม นั่นเพราะวัฒนธรรมองค์กร ถือเป็นผลงานที่ทุกคนภายในบริษัทร่วมกันสร้างขึ้นจากการอยู่ร่วมกัน ถึงแม้ว่าการดูแลและรักษาวัฒนธรรมองค์กรจะเป็นหน้าที่ของทุกคนในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นซีอีโอ หรือพนักงานเข้าใหม่ แต่ HR คือหัวใจสำคัญผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลวิถีความเป็นไปขององค์กร ทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์ของบริษัทและพนักงาน
หากคุณยังนึกภาพไม่ออก ว่าบทบาทหน้าที่ของ HR ในการดูแลวัฒนธรรมองค์กรมีลักษณะเป็นอย่างไร บทความนี้อาจช่วยให้คุณทำความเข้าใจเพิ่มเติมขึ้นได้ไม่มากก็น้อย
การเบิกจ่ายที่โปร่งใสและเป็นระบบ
ใครๆ ก็ต้องชอบวันเงินเดือนออก อาจปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเงินเดือนถือเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้พนักงานมีแรงฮึดสู้ทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ดังนั้นแล้วการจ่ายเงินของบริษัทจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีระบบโครงสร้างชัดเจน สิ่งนี้ถือเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นมืออาชีพของบริษัทได้ดีทีเดียว เพียงเรื่องเล็กๆ อย่างเช่น การจ่ายเงินตรงเวลา และครบตามจำนวน ก็ถือเป็นเรื่องดีๆ ที่สร้างความพึงพอใจให้พนักงานได้แล้ว ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นรวมไปถึงทัศนคติที่ดีที่มีต่อบริษัทอีกด้วย
สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
หลายคนอาจมองว่าผลงานของการทำงานขึ้นอยู่กับความสามารถของพนักงานแต่ละคน แต่การผลักดันพนักงานให้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มประสิทธิภาพก็เป็นสิ่งที่ HR สามารถทำได้เช่นกัน บรรยากาศในที่นี้ไม่ได้มีความหมายถึงสภาพแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการบริหารจัดการระบบการทำงานอีกด้วย อย่างเช่น การจัดประเมินเลื่อนตำแหน่งประจำปี หรือครึ่งปี
ที่มีส่วนช่วยให้พนักงานตั้งเป้าหมายในการผลักดันตนเองให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้การจัดทีมภายในองค์กรที่เป็นระบบก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างสุดความสามารถได้อีกทาง
จัดเทรนนิ่ง พัฒนาองค์ความรู้ให้สม่ำเสมอ
เมื่อบริษัทต้องเคลื่อนไปข้างหน้า จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ของพนักงานให้ทันสมัย ก้าวหน้า และเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น การจัดอบรม หรือคอร์สเทรนนิ่งต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ HR สามารถจัดหามาเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิพิเศษสำหรับพนักงานในบริษัทได้ ไม่ว่าจะเป็น Soft Skills อย่างเช่นทักษะการเป็นผู้นำ การสื่อสารระหว่างทีม แนวคิดในการทำงาน ฯลฯ หรืออาจเป็น Hard Skills อย่างเช่น เทคนิคการใช้โปรแกรมต่างๆ ก็ได้เช่นกัน
การยอมรับและสนับสนุนความหลากหลาย
ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความหลากหลายเช่นนี้ สิ่งที่บริษัท และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง HR ละเลยไปไม่ได้เลยคือการให้ความสำคัญกับความหลากหลายของพนักงานภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็น อายุ เพศกำเนิด ศาสนา เชื้อชาติ สัญชาติ ชาติพันธุ์ สีผิว การศึกษา ฯลฯ หนทางหนึ่งที่อาจใช้เป็นแนวทางได้ คือการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล ถือเป็นการยกระดับบริษัทให้มีวิถีปฏิบัติเช่นเดียวกับสังคมวงกว้างในศตวรรษที่ 21 ได้ดีทีเดียว
Comments